Freelance … ยังไง ตอน ลิขสิทธิ์ง่ายๆ แบบบอสๆ

ได้มีโอกาสไปร่วมงาน Freelance … ยังไง อีกครั้งหลังจากไม่ได้ไปนาน ด้วยหัวข้อน่าสนใจและคนมาพูดก็น่าสนใจเช่นกัน จึงได้ไปร่วมงานและนำมาแบ่งปันผู้อ่านในบทความนี้ครับ โดยเรื่องลิขสิทธิ์บ้านเราเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หลายคนไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดเยอะมากๆ ผมจะพยายามย่อยให้เสพง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้นะครับ เอาล่ะไปอ่านกันเลย

รายละเอียดของงาน

ลิทสิทธิ์

ไม่ว่าคุณจะเป็นฟรีแลนซ์รุ่นเก๋าหรือมือใหม่หัดฟรีแลนซ์ เราเชื่อว่าทุกคนก็คงสงสัยและยังไม่กระจ่างแจ้งในเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’ เท่าไหร่นัก สร้างสรรค์งานขึ้นมาทีไร ก็ต้องมานั่งกุมขมับเรื่องลิขสิทธิ์ทุกที เพราะดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แถมซับซ้อนอีกต่างหาก ทว่านั่นอาจเป็นเพราะเราอาจไม่เคยให้เวลาทำความรู้จักกับลิขสิทธิ์มากพอนั่นเอง

HUBBA ขออาสาช่วยให้ทุกคนเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น ร่วมด้วยแขกรับชวนสุดพิเศษ ที่จะมาแชร์ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ และไขข้อข้องใจให้กับชาวฟรีแลนซ์แบบไม่มีกั๊ก ไม่ว่าจะเป็นการใช้รูป หรือฟุตเทจ การสร้างแบรนด์ การแจ้งข้อมูลกับกรมหรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

เชื่อเถอะว่า…รู้จัก ‘ลิขสิทธิ์’ ดี และใช้ถูกต้องเมื่อไหร่ ก็สบายใจไปอีกสามชาติ (สบายใจอะไรเบอร์นี้) !

แล้วมาเจอกันวันพุธที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เวลา 18.30 ที่ HUBBA เอกมัย ซอย 4

กำหนดการ
18.30 – 19.00 : ลงทะเบียน
19.00 – 20.00 : เริ่มการนำเสนอในหัวข้อ ลิขสิทธิ์กับชาวฟรีแลนซ์
20.00 – 20.30 : เปิดเวที ถาม-ตอบ ไขข้อข้องใจ (ใครใคร่แชร์ประสบการณ์เรื่องลิขสิทธิ์กับเพื่อนๆคนอื่นๆก็เต็มที่เลย)
20.30 เป็นต้นไป : ช่วง Networking พูดคุยทำความรู้จักกับผู้เข้าร่วมงานคนอื่นๆ มาหา Connection ดีๆได้ที่นี่

ค่าร่วมงาน 250 บาท (มีเครื่องดื่มและขนมให้สังสรรค์ในงานกันค่า)
วันพุธที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เวลา 18.30 ที่ HUBBA เอกมัย ซอย 4

งานนี้จัดขึ้นเกือบจะทุกเดือนถ้าจำไม่ผิดนะครับ และมีหัวข้อน่าสนใจเรื่อยๆอย่างผมเคยเขียนเกี่ยวกับงานนี้ไปแล้วสามารถอ่านได้จากตรงนี้เลยครับ

โดยมีค่าเข้างานอยู่ที่ประมาณ 200 – 300 บาท ซึ่งเงินส่วนใหญ่ก็มาเป็นค่าอาหารในงานและเครื่องดื่มต่างๆอ่ะครับ สำหรับหลายๆคนที่ยังไม่ทราบลองติดตามได้จาก Hubba ได้เลยครับ

เริ่มงานและแนะนำตัว

กลายเป็นวิธีกรรมไปแล้วสำหรับงานที่ Hubba ซึ่งทุกคนที่มาต้องแนะนำตัวกัน ผมชอบมากเพราะเราจะได้รู้จักคนใหม่ๆ และอาชีพที่แตกต่างกันในบางครั้ง นำมาให้รู้จักกันได้ โดยยังคงมีหน้าเก่าอย่างผมและน้องๆอีกคนสองคนสำหรับขาประจำ ซึ่งก็คิดว่าเป็นงานกลับมา meeting กันด้วย โดย speaker ที่ไม่ได้เขียนลงใน Event ก็เป็นอะไรที่แปลกใจหน่อยๆ สำหรับตอนแนะนำตัวคือ พี่ปิ๊ก เอาจริงๆคนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในนามบิ๊กบอสของเพจ กรมทรัพย์สินทางปัญญา นั่นเองที่คนชอบเขียน summon บอส มานั่นแหละกับประโยคเด็ดที่เป็นวลีฮิตคือ ไม่น่ารักเลย 

เราจะรู้อะไรสำหรับงานครั้งนี้

  • ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร แล้วมีอะไรบ้าง
  • ทำให้มันถูกต้องอย่างไร
  • การคุ้มครอง

ทรัพย์สินทางปัญญาคือ ?

ผลงานความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่รัฐรับรองสิทธิ์ให้มีค่าและนำไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์ได้ โดยจะเป็นพวกบริการของเครื่องมือก็นับพวกด้วยโดยมี 3 อย่างที่เกี่ยวข้องดังนี้คือ

  • สิทธิบัตร
  • ลิขสิทธิ์
  • เครื่องหมายการค้า

การเขียนโค้ดตีเป็นวรรณกรรม ต่อไปขอเรียก ทรัพย์สินทางปัญญาว่า IP ( Intellectual Property ) เดี๋ยวเราไปดูแต่ละตัวว่ามันคืออะไร

สิทธิบัตร ( Patent )

มันคือบัตรที่แสดงความเป็นเจ้าของในสิ่งนั้นๆ ที่เราคิดค้นประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเจ้าบัตรนี้จะบอกว่าเรามี สิทธิในงานประดิษฐ์ของเรานานเท่าไร อะไร อย่างไร โดยมีอายุ 10 ปีและไม่สามารถต่ออายุได้ และมันจะกลายมาเป็นอนุสิทธิบัตรในภายหลัง และที่สำคัญคือมันฟ้องย้อนหลังได้ด้วย ถ้าหากคุณคิดอะไรแล้วมีคนมาทำสิ่งที่คุณจด ณ ช่วงเวลาที่เขากำลังจดนั้นคุณสามารถฟ้องย้อนหลังได้ เพราะการจดสิทธิบัตรนั้นค่อนข้างนาน

ยกตัวอย่างเช่น ตอน apple ผลิต mac book air ที่มันบางมากๆ จะสังเกตุว่า ตอนนั้นไม่มีเจ้าไหนทำบางเท่าเลย จน สิทธิบัตรหมดอายุ ค่ายอื่นๆจึงออกรุ่นบางๆออกมาให้เห็น ซึ่ง apple ก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำสำหรับช่วงที่เราเป็น เจ้าของสิทธิบัตรเรื่องความบางออกการแบบ อันนี้ผมยกตัวอย่างนะครับ ของจริงมันอาจจะจดยาวและรายละเอียดเยอะกว่านี้

โดยเจ้า สิทธิบัตรก็แบ่งออกเป็น 3 ประเภทนะครับดังนี้

  • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ ( Patent )
  • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ( Design Patent ) คิดว่าตัวอย่าง apple คงจดอันนี้
  • อนุสิทธิบัตร ( Pretty Patent )

โดยหลักๆเนื้อหาสำคัญที่เราต้องรู้คือ เจ้าสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เนี้ยไม่จำเป็นต้องทำได้จริง ส่วนที่เหลือสองอันต้องทำได้จริง สมมติว่าในวันหนึ่งที่ job ยังไม่ได้ออกแบบ iphone แต่คุณเกิดนึกออกว่าโทรศัพท์โลกอนาคตมันหน้าตาแบบนี้มีปุ่มเดียว แล้วดันบังเอิญไปตรงกับ iphone ของ job คุณก็อาจจะรวยไม่รู้เรื่องเลยทำนองนั้น คุยกันว่า มีหลายคนก็นึกอะไรออกก็ไปจดด้วย ว่าอันอีกสองตัวที่เหลือ

มันจะมีข้อกำหนดอยู่เป็นเงื่อนไขในการตัดสินว่าเราจะจดสิทธิบัตรกับการเป็นอนุสิทธิบัตรได้อย่างไรด้วย โดยเริ่มจาก สิทธิบัตรการประดิษฐ์ก่อนมีเงื่อนไขดังนี้

  1. เป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่
  2. เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น อันนี้ผมเข้าใจว่าเป็นการต่อยอดจากของเดิม ที่เป็นอนุสิทธิบัตรหมดอายุไปแล้ว
  3. เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

ส่วนของอนุสิทธิบัตรจะไม่มีข้อสองนอกจากนี้มีสิ่งที่ไม่สามารถจดพวกสิทธิบัตรได้อีกด้วยโดยมีดังนี้

  • จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช
  • กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
  • ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
  • การวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์
  • การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

เครื่องหมายทางการค้า ( Trademark )

หมายถึงรูปภาพ ข้อความ กลุ่มสี เป็นไปได้หมด ไทยเพิ่งจะรับจดพวกเสียง เช่น เสียงรถไอติมวอลล์ เสียง nokia แต่ไทยยังไม่มีรับจดกลิ่ม เมืองนอกมี เพราะบางแบรนด์จะใช้พวกกลิ่นน้ำหอมแบบนี้สำหรับร้านตัวเอง เดินเข้าห้างจะรู้ทันที

โดยจะแบ่งเป็น 4 ประเภทดังนี้

  • เครื่องหมายการค้า อันนี้คือ เครื่องหมายกับตัวสินค้า
  • เครื่องหมายบริการ อันนี้คือ เครื่องหมายกับพวกบริการ
  • เครื่องหมายรับรอง พวกเชลล์ชวนชิม อย.
  • เครื่องหมายร่วม อันนี้คือรวมทั้งสินค้าบริการที่มีหลายๆบริษัทแต่อยู่กลุ่มเดียวกัน เช่น SCG , PTT

เวลาเราจะจดเครื่องหมายทางการค้าแล้วไม่ผ่านมีเหตุผลหลักๆสามอย่างนี้ ถ้าใครจะจดก็ลองพิจารณาดูด้วย พวก Logo จะซ้ำเยอะมาก

  1. ไปคล้ายกับสิ่งที่คนรู้จักอยู่แล้วพวกแบรนด์ดังๆเช่น KFC, Starbuck
  2. คำกว้างเกินไป เช่น พวกเครื่องสำอางค์จะใช้คำว่า white , pink , สวย, นางฟ้า พวกนี้คำมันกว้างเกินไป
  3. เป็นชื่อที่ไม่รับจดอยู่แล้วเช่น ชื่อประเทศ สถานที่ต่างๆ สัญลักษณ์ต่างๆที่เป็นสากลเช่น ธงชาติ

ยังมีพวกต้องห้ามเลย ห้ามออกแบบเกี่ยวข้องกับสิ่งพวกนี้เลยคือ

  • ตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นของแผ่นดินหรือพระมหากษัตริย์
  • ธงชาติทุกประเทศ
  • พระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์
  • เครื่องหมายราชการต่างๆ และของทางประเทศด้วย
  • เครื่องพวกขัดต่อความสงบเรียบและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อรัฐ เช่น ถ้าเอารูปของที่คนศรัทธา ไปทำรูป Logo
  • เครื่องหมายที่เหมือนพวกแบรนด์ดังๆ
  • สิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย เช่น มะขามหวานเพชรบูรณ์
  • เครื่องหมายที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้น

โดยไม่จดเครื่องหมายทางการค้าผิดไหม ? ไม่ผิดแต่เวลาใครเอาเครื่องหมายทางการค้าของคุณไปใช้คุณก็เรียกร้องอะไรไม่ได้เลย และเลวร้ายไปกว่านั้นคือ ถ้าหากใครซักคนเอาเครื่องหมายทางการค้าของคุณไปจดทะเบียนก่อนคุณ เขาสามารถเอามาฟ้องร้องคุณว่าไปละเมิดเขาอีกด้วย นี่คือความเลวร้ายมากๆ สำหรับคนหัวหมอ เพราะทางคุณปิ๊กเล่าว่า เราน่าจะเคยได้ยินว่าทางภาครัฐจัดงานเอาพวก SME ไปจัดแสดงที่ต่างประเทศ โดยบางคนไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้าไว้ก่อน แล้วพอเราไปจัดแสดง บางครั้งจะมีกลุ่มคนมาดูงานและ copy ไปจดทะเบียนก็มีมาแล้ว โดยการจดทะเบียนแบบนั้นแปลว่าเราจะขายของที่ประเทศนั้นไม่ได้เพราะถือว่าเขาจดทะเบียนก่อนเรา

ซึ่งแต่ก่อนนั้นเวลาเราจะจดทะเบียนเครื่องหมายพวกนี้เราต้องไปจดที่ประเทศนั้นๆ แต่ปัจจุบันสามารถจดที่ไทยได้เลย แต่ก่อนถ้าคุณจะไปขายของที่จีนคุณก็ต้องไปจดที่จีนด้วย อย่างนี้ครับมาเล่าอีกตัวอย่างที่น่าสนใจกัน

สามารถต่ออายุเครื่องหมายทางการค้าได้ทุก 10 ปีนะครับ มาดูวิธีการจดทะเบียนว่าทำอย่างไรกันครับ

  • เตรียมรูปเครื่องหมายการค้า
  • ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า ว่าเหมือนหรือคล้ายกับข้อกำหนดที่ผมบอกไหม
  • เตรียมเอกสารจดทะเบียน คำขอจดทะเบียน ก. 01 หาได้จาก link นี้เลยครับ http://www.ipthailand.go.th/th/trademark-007.html
  • ยื่นคำขอจดทะเบียน
  • ชำระค่าธรรมเนียม
  • รอรับหนังสือสำคัญ

ไปจดได้ที่ไหนบ้าง ดังนี้

  • ศูนย์จดทะเบียน ทรัพย์สินทางปัญญา ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา
  • สำนักงาน พาณิชย์จังหวัด
  • ยื่นคำขอทาง อินเตอร์เน็ต
  • ยื่นคำขอ ทางไปรษณีย์ จ่ายหน้าซองว่า ถึงผู้อำนวยการ สำนักเครื่องหมายการค้า 563 ถนน นนทบุรี ต. บางกระสอ อ. เมือนนนทบุรี จังหวัด นนทบุรี 11000

ลิขสิทธิ์ ( copyright )

ลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองทุกอย่าง ลิขสิทธิ์ ไม่ต้องจดทะเบียน มันคุ้มครองตั้งแต่มันกำเนิดมาเลย โดยเราจะแบ่งว่าอันไหนเป็นลิขสิทธิ์ได้โดย 9 แบบนี้

  1. งานวรรณกรรม หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
  2. งานนาฏกรรม ท่ารำ ท่าเต้น
  3. งานศิลปกรรม จิตกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ศิลปประยุกต์
  4. งานดนตรกรรม  ทำนอง ทำนองและเนื้อร้อง ฯลฯ
  5. งานสิ่งบันทึกเสียง เทป ซีดี
  6. งานโสตทัศนวัสดุ VCD, DVD ที่มีภาพและทั้งภาพและเสียง
  7. งานภาพยนต์ งานที่ฉายในโรงหนัง หรือภาพเคลื่อนไหวที่เราอัดเอง
  8. งานแพร่เสียง แพร่ภาพ รายงานโทรทัศน์ วิทยุ
  9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ

จะเห็นว่างานด้านเกี่ยวกับภาพเสียง เนี้ยเยอะมาก การเขียน code ก็มีลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน

ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ?

งานลิขสิทธิ์เป็นของ เจ้าของเงิน เพราะฉะนั้นหากยังไม่มีการจ่ายเงินของสิ่งนั้นลิขสิทธิ์จะเป็นของเรา สมมติว่ามีคนจ้างเราวาดรูปแล้ว บอกว่าขอดูก่อนปรากฎว่าเอาตัวอย่างที่ให้ไปใช้งานจริง เราสามารถฟ้องได้ว่า ผู้จ้าง ละเมิดลิขสิทธิ์เรา เพราะเขายังไม่ได้จ่ายเงิน 

แล้วการทำพวกพารอดี้ ( Parody ) มันผิดไหม ปกติแล้วประเทศอื่นๆที่เจริญแล้วไม่ค่อยเอาเรื่อง แต่ถ้าเจ้าของแบรนด์ไม่ขำ จะเอาเรื่องก็ฟ้องได้เลย ที่เขาไม่ฟ้องเพราะตัวเราอาจจะตัวเล็กไม่มีชื่อเสียง หรือ win-win ทำให้คนรู้จักแบรนด์เขามากขึ้น แต่อย่างที่บอกและเน้นย้ำ เขาจะฟ้องได้ทุกเมื่อ 

กลับมาเรื่องว่าแล้วถ้าผู้ว่าจ้างเราบอกว่า เราไป copy เขาต่างหากอย่างนี้จะป้องกันได้อย่างไร มีหลายวิธีครับ อย่างแรกถ้าหากส่งตัวอย่างให้เช่นพวก รูป logo ที่ออกแบบให้ให้ส่ง email มาหาตัวเองด้วยหรือถ้าส่งเป็นของอะไรที่เป็นเอกสารให้ส่งหาตัวเองด้วย และเก็บไว้มันเป็นหลักฐานได้อย่างดี

แต่ก็คงมีคนคิดว่ามันสามารถปรับเปลี่ยนเวลาได้หรือเปล่าในคอมพิวเตอร์แต่ ศาลจะมีวิธีจับผิดอื่นๆอยู่ด้วยครับ อย่างน้อยๆถ้าเรามีหลักฐานก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งแล้วจะมีขั้นตอนในการสืบอีกแน่นอนครับ

ว่ากันอีกเรื่องคือ อายุของลิขสิทธิ์ มันจะมีอายุต่อจากเจ้าของตายอีก 50 ปี ไม่สามารถส่งต่อให้รุ่นลูกหลานได้ เพราะฉะนั้นมันจะติดไปกับตัวคุณเท่านั้น ส่วนลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์จะมีอายุ 25 ปี นับจากวันที่สร้างสรรค์หรือเผยแพร่ต่อสาธารณะ 

ถ้าโดนละเมิดลิขสิทธิ์ทำไง ?

ไปแจ้งตำรวจพร้อมหลักฐานต่อไปนี้

  • หลักฐานสร้างสรรค์หรือหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น ถ้าคุณถ่ายภาพเสียงเหนือ ณ วันที่เท่าไรอย่างไร ก็เก็บไว้
  • ตัวอย่างที่เป็นของแท้และของปลอม เช่น คุณถ่ายภาพแสงเหนือ ไม่มีคน แต่อีกภาพมีคน แต่ภาพเหมือนกัน
  • ถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้มาเอง ต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้คนอื่นมาร้องทุกข์แทน
  • สำเนาบัตรประชาชนหรือหนังสือรองรับนิติบุคคลของเจ้าลิขสิทธิ์หรือผู้รับมอบอำนาจ

จะเห็นว่าทุกอย่างเราต้องเตรียมไปเอง นั่นแหละครับประเทศไทย

มันจะมีประเด็นเรื่องบริษัทบางบริษัทให้พวกเรา Draft รูปหรือเอาลายน้ำออกจากเว็บที่ขายรูป ผมคิดว่าหลายๆคนก็น่าจะเคยเจอบาง เราจะไม่ทำก็ไม่ได้เขาไม่จ่ายเงินเดือนทำไงถูกต้องไหมครับ มีทางออกกับเหตุการณ์นี้ครับ โดยคุณต้องเก็บหลักฐานไว้ว่าบริษัทได้สั่งให้คุณทำจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น email ข้อความใดๆก็แล้วแต่ว่าเขาจ้างให้คุณทำ ถ้าคุณไม่เก็บคุณซวยสถานเดียวเลยครับ

แล้วถ้าทางบริษัทไม่ได้ระบุแล้วเราดันไปเอารูปมาทำให้ เราก็ซวยอีกเช่นกันครับ เพราะฉะนั้นต้องระวังให้ดี แจ้งให้ทางบริษัททราบหากต้องใช้ภาพต่างๆ หรือของที่มีลิขสิทธิ์ต่างๆ

งานปลอดลิขสิทธิ์มีด้วยหรือ ?

จริงๆไม่ใช่ไม่มีแต่เจ้าของลิขสิทธิ์บอกเองเลยว่า เอาไปใช้ได้เลย ซึ่งมีอยู่เยอะเหมือนกัน ตัวอย่างเว็บที่แจกรูปฟรี และรายละเอียดสูงเช่นเว็บ https://unsplash.it/ แต่ก็ต้องระวังด้วยเพราะว่าเคยมีกรณีว่า ให้ฟรี 3 เดือนแล้วหลังจากนั้นจะไม่ฟรี แปลว่าเราอาจจะใช้รูปนั้นได้แค่ 3 เดือนต้องเปลี่ยน แต่บางคนลืมก็โดนปรับกันไป เพราะฉะนั้นต้องดูรายละเอียดดีๆ บางที่ได้ใช้แค่ในเว็บฟรีแต่ถ้าเอาไปใช้ทำ Poster ไม่ฟรีอย่างนี้ก็มีครับ

ขึ้นตอนการแจ้งข้อมูลสิทธิ์

  1. เตรียมเอกสาร แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ลข. 01 จำนวน 2 ชุด http://www.northbkk.ac.th/Dept/ReserchOffice/pdf/l3.pdf
  2. เตรียมผลงานที่ต้องการแจ้งข้อมูล
  3. ยื่นคำขอ
  4. รอรับหนังสือสำคัญ

สรุป

ลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้น หลายๆคนคงมีคำถามว่าการกดแชร์ใน FB มันคือการละเมิดไหม หรือการที่เราเอาภาพมาใช้งานและงานของเราไม่ได้ขายหรือหากำไรจะผิดไหม ? ถ้าจะให้ตอบจริงๆ ให้คุณอ่านตรงนี้ให้เข้าใจเลยนะครับว่า

การที่จะตัดสินผิดหรือไม่ผิด นั่นคือ “ศาล” เท่านั้นครับ ส่วนการที่เราเอาของที่มีลิขสิทธิ์มาใช้นั้นคือการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” เพราะฉะนั้นต้องอยู่ที่ว่าผู้ถูกละเมิดจะเอาเรื่องคุณหรือไม่ ถ้าเขาเอาเรื่องคุณถึงศาล ศาลจะบอกคุณเองว่าผิดหรือไม่ผิด แต่การที่คุณเอาของที่ละเมิดคุณรู้อยู่แก่ใจแน่นอนว่ามันผิด(ทางใจ) ไปแล้ว เพราะบางครั้งมันเป็นเหตุการณ์แบบ win-win ทางเจ้าของจึงไม่ฟ้องคุณ

ทางที่ดีที่สุดคือ การติดต่อไปหาเจ้าของลิขสิทธิ์และขอหรือซื้อหรือตกลงกันว่าจะเอาไปใช้งานอะไรอย่างไร และเขาคิดจะขายให้หรือไม่ นะครับ

สำหรับงานๆดีอย่างนี้คราวหน้าก็อย่าพลาดนะครับ อย่าลืมไปกดติดตาม เพจที่แนะนำกันไป และอย่าลืมติดตาม Blog นี้ด้วยนะครับ ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านนะครังหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกคนที่กำลังพัฒนาสิ่งดีๆให้กับโลกเราแล้วอย่าลืมไปจดทะเบียนต่างๆให้ครบนะครับ ใครมีคำถามอะไร เกี่ยวกับเรื่องนี้ลอง comment ไว้ได้นะครับผมจะเอาไปถามทางคุณปิ๊กอีกทีว่า แบบนี้แบบนั้นมันผิดหรือละเมิดอย่างไร

 

Loading

เป็นโปรแกรมเมอร์ที่ตามหาคุณค่าของชีวิตและความฝันในวัยเด็ก ชอบเล่นเกม เรียนรู้ทุกอย่าง ชอบเจอคนใหม่ๆ งานสังคมทุกชนิด ออกกำลังกายในวันว่าง อ่านหนังสือ มีเว็บรีวิวหนังสือด้วย www.readraide.in.th