เนื่องจากได้คุยกับพี่ๆ และคนรอบเกี่ยวกับเรื่องการทำงานกับโปรแกรมเมอร์ที่เข้าใจผิดกันทั้งสองฝ่าย แต่บทความนี้จะมาเล่าเกี่ยวกับด้านของ โปรแกรมเมอร์ ว่า มีหลายๆคนนั้นเมื่อทำงานกับอาชีพนี้แล้วบอกเข้าใจยาก บ้างที่ก็บอกว่าคุยแล้วไม่เข้าใจ หรือบางครั้งก็คิดว่าเขาน่าจะรู้ทุกอย่าง อย่างที่คุณเข้าใจ แต่ความจริงๆไม่ใช่เลยครับ เอาล่ะมาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
โปรแกรมเมอร์ ไม่สามารถทำงานต่อกันได้เลย
ฟังดูหลายคนอาจจะเถียงในใจว่า ไม่จริงเฟ้ย ! ฉันเห็นที่ทำงานก็ทำได้นี่หว่า แต่เอาจริงๆคือ มันต้องใช้เวลาครับ สำหรับการเรียนรู้งานคนเก่า และต้องพยายามเข้าใจความคิดของคนเก่าที่ทำงานไว้ด้วยครับ ปัญหาคือ บางครั้งการทำงานแบบว่า คนเก่าทำงานไว้ 20% แล้วเขาดัน ลาออก! หรือหายไปเลย อารมณ์แบบโดนอุ้ม แล้วงานค้างไว้ที่ 20%
บางครั้งคนที่มาจ้างโปรแกรมเมอร์ทำงานจะเข้าใจว่า จ้างโปรแกรมเมอร์คนใหม่มาทำงานต่อนั้นมันจะเริ่มที่ 21% ต่อได้เลย แต่ความจริงคือ เปล่าเลยครับ มันเหมือนเราต้องมาเรียนรู้จาก 0 – 20% ว่าคนเก่าทำอะไรไปบ้างแล้วจะทำงานได้ไหม ไม่ใช่ทำงานต่อได้เลยนะครับ ยังต้องดูด้วยว่างานที่ทำมามันจะพัฒนาต่อได้ไหม หรือมันจะทำให้ชีวิตของคนนั้นไปยุ่งยากทีหลังไหมถ้าดูแล้วจะนำพาให้ชีวิตคนใหม่มาทำนั้นจะซวยทีหลัง ส่วนใหญ่เขาจะทำใหม่เลยมากกว่าทำต่อครับ
งานเร่ง ! งานด่วน ! แต่งบน้อย …
จากประโยคข้างบนนั้น คุณผู้ว่าจ้างไม่รู้สึกอะไรเลยหรอครับ ? ฟังดูแปลกๆเนอะ คือ มันตลกร้ายมากๆที่ งานด่วน งานเร่ง แต่ดันไม่มีเงินจ้างแพงทำไมมันสวนทาง ความจริงก็คือ มันต้องมีราคาที่ต้องจ่ายเพิ่ม สิ่งนั้นเรียกกันในความเข้าใจว่า ค่าเสียโอกาส
เสียโอกาสอะไร ? เสียโอกาสในการทำงานที่อาจจะได้เงินมากกว่างานของผู้ว่าจ้าง ตัวอย่างง่ายๆคือ สมมติว่าโปรแกรมเมอร์ทำงานหนึ่งอยู่ โดยงานนี้มีมูลค่า 30,000 บาท แต่ผู้ว่าจ้างบอกช่วยพี่หน่อย งานด่วน ! แต่มีงบให้ 20,000 บาทนะ นี่เป็นตัวอย่างที่พูดถึงครับ ซึ่งมันดูตลก เพราะโปรแกรมเมอร์ต้องทิ้งงานที่จะทำรายได้ 30,000 มาทำงานราคา 20,000 บาท ความจริงแล้วควรจะเป็นคุณต้องจ่ายแพงกว่าหรือมีแรงดึงดูดที่จะทำให้เขามาทำงานให้ครับ
ทำงานเสร็จเร็ว ไม่ได้แปลว่ามันง่าย …
หลายๆคนเข้าใจว่าทำงานเสร็จเร็ว = มันง่าย แต่เปล่าเลยครับการทำงานเสร็จได้เร็วเพราะเขามีประสบการณ์ครับ เพราะโปรแกรมเมอร์ต้องฝึกฝนทักษะเพื่อจะได้ทำงานได้เร็วครับ เพราะฉะนั้นการทำงานเสร็จเร็วไม่ได้แปลว่ามันง่าย แล้วหลายๆคนอีกก็คิดว่า ง่าย = ถูก เลยมีคนหลายๆเรียก เวลาทำงานนานๆ อันนี้เคยได้ยินมาจากเพื่อนๆบ้าง
ต้องปรับความคิดใหม่ว่า การที่เขาทำเสร็จได้เร็ว มันไม่ได้ง่าย และมันก็ไม่ได้ถูกครับ ถ้าอะไรที่มันง่ายคุณผู้ว่าจ้างน่าจะทำเองก็ได้ แต่อะไรที่เราทำเองไม่ได้ต้องพึ่งพาคนอื่น นั่นคือ ไม่ง่ายครับ
นิดเดียวเอง …
ต่อจากข้อข้างบนเลยครับ หลายๆคนนั้นคิดว่า การทำเสร็จเร็วคือ ง่ายและความง่ายคือทำนิดเดียว … ( นิดพ่อสับสน … ) บ้างทีเขาอาจจะเร่งมือทำให้มันเสร็จเร็วๆเพื่อจะทำงานอย่างอื่นต่อครับ บางครั้งการเร่ง มันไม่ได้นิดเดียวแต่เขาเร่งทำให้ครับ ยิ่งแก้ไขเยอะ อย่าเพิ่งคิดว่ามันนิดเดียวครับ แต่คุณเจอคนที่อธิบายก็ดีหน่อยอย่างน้อยก็จะได้รู้ว่า flow ทำงานมันเป็นอย่างไร แต่ส่วนใหญ่มักไม่ฟัง …
แก้ให้หน่อยนะ นิดเดียวเอง …
คุยไม่รู้เรื่อง พูดคนเดียว
เราชอบคุยกับตัวเองครับ ใช่อ่านถูกแหละ เราไม่ได้บ้าครับ แต่บางครั้งต้องพูดเพื่อย้ำความคิดในการเขียนโปรแกรมครับว่า อ๋อ … มันผิดตรงนี้ คือบอกกับตัวเองว่า มันผิดตรงนี้ จำไว้นะ หรือกำลังคิดงานอยู่ต้องย้ำกับตัวเองว่าตอนนี้คิดถึงไหนแล้ว ทำอะไรต่อไป อะไรที่เราต้องคำนึงถึง ในการเขียนโค้ด เนี้ยแหละที่มาของการพูดคนเดียว
ส่วนเรื่องพูดไม่รู้เรื่องเพราะว่า หลายๆครั้งความคิดในหัวกับสิ่งที่พูดไม่สัมพันธ์กัน จะเป็นโดยมากกับคนที่ไม่ค่อยคุยกับคนบ่อยๆ ทำงานกับคอมจนชินและเข้าใจว่าคนอื่นจะเข้าใจพวกศัพท์เทคนิคต่างๆที่ตัวเองพูดออกมาทำให้คนอื่นๆมองว่าเราคุยไม่รู้เรื่อง ปัญหาตรงจุดนี้อาจจะต้องมาคุยกันหรือ confirm กันว่าเข้าใจตรงกันนะ อย่างนี้นะ หรือ ต้อง make sure กันบ่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มเข้าใจกันครับ
สรุป
ผมว่าอาชีพอื่นๆคงเจอปัญหาแบบนี้ไม่ต่างกันหรอกเพียงแต่ก็อยากให้เข้าใจกันว่า อาชีพของผมนั้นมีคนเข้าใจผิดเยอะอยู่ครับ แล้วคุณล่ะ อาชีพอะไรแล้วมีคนเข้าใจอะไรผิดบ้าง แบ่งปันให้ผมอ่านด้วยครับ
หากชอบเนื้อหาแนวๆนี้แนะนำอ่านต่อ
https://oxygenyoyo.com/general/prepare-get-programmer-job/