10 ข้อดีทำงานที่ wisesight 1 ปี

10 ข้อดีทำงานที่ Wisesight มา 1 ปี

หลังจากผมได้เขียนรีวิวเกี่ยวกับ wisesight มาแล้วว่าทำงานวันแรก ทำงาน 6 เดือนแล้ว แน่นอนว่าจะไม่มี 1 ปีคงเป็นไปไม่ได้ บทความนี้จะมาเล่าเกี่ยวกับหลังจากอยู่ที่นี่มา 1 ปีมีอะไรอีกที่ท้าทายและทำให้คนที่นี่ยังคงอยู่ด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น โดยในขณะที่ผมทำงานอยู่นั้นในทีม Track Dev มีคนลาออกแค่ 1 คนเท่านั้น เขาทำอย่างไรไปอ่านกัน

10 ข้อดีทำงานที่ wisesight 1 ปี

1. Flat role ตำแหน่งชั้นไม่เยอะ

หลายคนอ่านอาจจะยังไม่เข้าใจว่าการที่ตำแหน่งไม่มีชั้นเยอะๆมันเป็นยังไง ถ้าคุณเคยทำงานกับบริษัทที่มีระดับชั้นของตำแหน่งเยอะๆ มันจะมีความลำบากเรื่อง การทำงานร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่ามีทีม Frontend กับทีม Design แล้วถ้าเราอยู่ทีม Frontend แล้วอยากจะแก้ไขตำแหน่งของปุ่มหรือว่ารูปร่างของปุ่ม เพราะเรารู้ว่าไอเดียของปุ่ม อาจจะยังไม่ตรงกับ UX อยากจะให้ปรับ ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ทำไง คุณต้องบอก หัวหน้าของคุณ ให้หัวหน้าคุณไปบอกหัวหน้า Design เพื่อให้เขาประเมินหรือให้ไปคุยกับน้องในทีมว่า ถ้าจะปรับมีเวลาทำไหม ถ้าไม่มีต้องรอนานแค่ไหน มองเห็น process ไหมครับ

คุณ -> หัวหน้าคุณ -> หัวหน้าเขา -> คนทำ design -> ประเมินเสร็จ -> บอกหัวหน้าเขา -> บอกหัวหน้าคุณ -> บอกคุณ

อาจจะฟังดู ใครจะบ้าทำ process แบบนี้วะ แต่เชื่อเถอะว่ามีอยู่จริง หลายคนๆอ่านแล้วยังหัวเราะทั้งน้ำตาในใจด้วยซ้ำ แต่ที่นี่ไม่ได้เป็นแบบนั้น คุณสามารถเดินไปคุยตรงกับใครได้เลย แล้วหัวหน้ามีหน้าที่รับรู้และให้คำแนะนำ ไม่ต้องยุ่งกับ process ด้วยซ้ำ

2. Trust คือหัวใจ

การสร้าง Trust นั้นทำได้ยากมาก เอาจริงๆคุณคิดว่าบริษัทคุณสร้าง Trust ให้ทุกคนสามารถคุยกันได้สนิทใจไหมครับ ? แต่ผมอยู่ที่นี่มา 1 ปี ผมรู้สึกสามารถจะไปถาม หรือ ปรึกษาใครก็ได้ในบริษัท สืบเนื่องมาจาก process People ( HR ) ที่นี่นั้นมีกระบวนทำให้คนที่เข้าใหม่มานั้น มี mindset ที่ถูกต้องกับองค์กรตั้งแต่แรกครับ ถ้าใครนึกไม่ออกสามารถอ่านได้ที่นี่ครับ

5 เรื่องราว WISESIGHT ที่ประทับใจ

และด้วยตำแหน่ง Senior นั้นจะบริษัทเองก็ให้ Trust แก่คุณเช่นกัน ให้คุณสามารถรับรู้ process ต่างๆนอกทีม ว่าตอนนี้ขายลูกค้าไปแล้วเท่าไร และติดอะไร เราที่เป็น Dev สามารถเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้บ้างเพื่อให้ ทีม Sale สามารถขายของให้ดีขึ้นแก่ลูกค้าได้

3. การจะเลื่อนตำแหน่งใหม่ มีมาตราฐานที่มาจากทุกคนร่วมกัน

สำหรับข้อนี้ผมชอบมาก เพราะหลายๆบริษัทเวลาคุณจะเลื่อนตำแหน่งให้ใครซักคน มาจากอะไรครับ ? อายุ ? ผลงาน ? คนของใคร ? ตำแหน่งต้องว่างก่อนถ้าไม่ว่างก็ให้คนอื่นขึ้นไม่ได้ ? อีกสารพัดเหตุผลที่คนที่อยู่ในระบบก็งงๆว่า ทำไมถึงเลื่อนขั้นไม่ได้

สำหรับ wisesight นั้นการเลื่อนตำแหน่ง เกณฑ์มาจาก Dev ที่เป็น Senior ขึ้นไปทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันกำหนด แน่นอนว่า ไม่ใช่การนั่งคิดของระดับ C Level เท่านั้น เพราะฉะนั้น เกณฑ์ต่างๆ จะเป็นเกณฑ์ที่มนุษย์ทั่วไปต้องทำได้ ถ้าหากพยายามมากพอ ไม่ใช่เอา superman มาทำงาน ที่นี่ไม่ได้ต้องการ superman เราไม่ได้ต้องการฮีโร่มาแบก เพราะการสร้างคนแบบนั้น จะทำให้เขาจากไปซักวันที่เขาหมดแรง

ขั้นตอนของการเลื่อนตำแหน่งนั้นยังช่วยปรับให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นอีกด้วย เพราะเราต้องการทำการเก็บ feedback ต่างๆจากหลายๆคนที่เราไปเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องงานและเรื่องคน เพื่อรับรู้ว่า เราขาด skill หรือทักษะอะไรที่จะทำให้เราขึ้นไปตำแหน่งนั้นๆ และยังได้รับคำแนะนำ จากคนต่าง Track เพื่อให้เราสามารถเลื่อนตำแหน่งได้อย่างมั่นใจ และไม่เป็นข้อข้องใจของทุกคน

ผมค่อนข้างชอบเพราะว่า ทุกคนไม่ได้มา ขัดขวาง แต่มาช่วยเหลือ เขาอยากให้คุณขึ้นตำแหน่งอยู่แล้ว ไม่มีใครที่มาคิดแบบนั้น เพราะมาจาก Trust ในข้อ 2 ครับ ถ้าเป็นที่อื่นอาจจะมีแอบคิดเหมือนกันว่า ไม่อยากให้เราเลื่อนหรือเปล่า ถ่วงเวลาหรือเปล่า แต่ที่นี่คือ ไม่เคยคิดแบบนั้นเลยครับ

4. ตำแหน่งมีมากพอสำหรับทุกคน

ถ้าหากตำแหน่งมีมากพอสำหรับทุกคน คุณคิดว่าเป็นอย่างไรครับ ถ้าสมมติว่าทีมหนึ่งจะมี Senior หมดเลย หรือว่าเป็น Team lead หมดเลย องค์กรสมัยก่อนคงบอกว่าจะบ้าหรอ ทำไมเราต้องมี Team lead หลายคนในทีมเดียว แต่ที่นี่เป็นไปได้ครับ แต่ Team lead เขาไม่ได้มาอยู่เฉยๆในทีมอยู่แล้ว เพราะทุกคนรู้ว่า Team lead ที่นี่จะหาทางทำประโยชน์ต่อเนื่องเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พอไม่มีเรื่องตำแหน่งต้อง Fix ทุกคนก็สามารถขึ้นได้หมด ก็อาจจะเกิดคำถามว่า ถ้ามี Team lead หมดแล้วเงินที่จ่ายจะไม่ over budget หรอ ? ไม่หรอกครับถ้าเกิด Team lead อยู่กันเยอะๆจริงๆ เขาจะย้ายออกไปทำทีมใหม่และช่วยเหลือด้านต่างๆ เอง พอไม่มีเรื่องการจำกัดตำแหน่ง เลยทำให้ทุกคนอยากพัฒนา เพราะว่าทุกคนจะไปถึงตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแน่นอนครับ

5. การเข้าใจการทำงานของ Developer จริงๆ

หลายบริษัทที่มี Developer เยอะๆ หรือมี Turn over rate เยอะๆ ( การลาออกเปลี่ยนคนเยอะๆ ) หลายครั้งมาจากการไม่เข้าใจการทำงานของ Developer แต่ที่ wisesight นั้นมีการเข้าใจการทำงานอย่างดี คิดดูว่า C Level ที่นี่ 10 คนเกินครึ่งเป็น Developer มาก่อน และมีการออกแบบ process การทำงานที่ตอบรับกับการทำงานของ Developer ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ เวลาการทำงาน การออกไอเดีย สิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ทั้งนี้ Product Owner ( PO ) ก็ยังมีการปรึกษาและให้โอกาส Developer ในการ discussion ซึ่งกันและกัน ทำให้งานออกมาดีและสร้างสรรค์

ไม่มีการโทรหาหลังเลิกงาน ไม่มีการที่อยู่ดีๆมากดดันเอา พรุ่งนี้มะรืนนี้เพราะว่าลูกค้าอยากได้ หลายๆคนน่าจะเข้าใจดีเลยทีเดียวว่าการที่ Sale ไปขายงานอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ปรึกษาทีม เราจะทรมานขนาดนี้ ต้องโหมงานแบบ บ้าคลั่ง ต้องพยายามกดดันทีม เพื่อให้ส่งงานทัน พอส่งงานทันก็มีข้อผิดพลาด ( Bug ) เกิดขึ้นอีก แล้วก็วนลูป ( loop ) นรกของจริง แก้งาน รีบทำ ส่งงาน เป็น Bug แก้งาน ……

นอกจากนี้น้องในทีมผมเคย Work from Netherlands ใช่ครับทำงานต่างประเทศเลย และก็ทำได้ดี ไม่มีปัญหาอะไรด้วย น้องไป 1 เดือนเลยคุณคิดว่า จะมีซักกี่บริษัทที่ให้คุณไปเที่ยว 1 เดือนไม่เจอหน้าแล้วทำงานได้อยู่ แต่ที่แน่ๆ 1 ในนั้นคือ wisesight ครับ

6. อยากเรียนรู้อะไร มีส่งเสริมหมด ว่าหลัก 1,000 หรือว่าหลัก 10,000

การส่งเสริมการเรียนรู้นั้นสำคัญมากๆ เพราะอาชีพ Developer เรียกว่าสิ่งที่เรียนปีนี้อาจจะไม่ใช้หรือไม่ได้อยู่ใน Trend ปีหน้าเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นการส่งเสริมการเรียนรู้นั้นสำคัญมากๆสำหรับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย Software แน่นอนว่าหลายๆบริษัทก็มีเงินสำหรับการส่งคนไปเรียนรู้ ในขณะที่อีกหลายๆบริษัทก็ไม่มีให้เลย

แต่ที่นี่มีทุนสำหรับให้เราไปเรียนรู้ได้หมด ถ้ามันเป็นประโยชน์ต่อสายงาน ใครอยากเรียนอะไรก็ให้มาบอก ถ้าหลายๆคนอยากเรียนด้วยเขาก็ซื้อคอร์สให้เรียนเลย แม้แต่หนังสือก็มีให้อีกด้วย ล่าสุดปีนี้ก็มีของ https://learning.oreilly.com/ ด้วยครับ เรียกว่าตอบโจทย์สำหรับสายเรียนผ่าน vdo หรือชอบอ่านก็ไม่พลาดเช่นกัน

คอร์สที่สอนสดหรือว่าเป็น workshop ต้องไปเรียนทั้งวันก็มีการส่งเสริมไปเช่นกัน โดยจะส่งไปอย่างน้อยสุด 2 คน คิดดูปกติจะส่งไปแค่คนเดียวก็แย่แล้ว แต่นี่ให้อย่างต่ำสองคนเพื่อให้ ช่วยกันจดช่วยกันจำ และนำกลับมาสอนให้กับทีมอื่นๆอีกด้วย

7. สอนกันเองไม่มีกั๊ก

สิบเนื่องจากข้อ 6 เรายังมี session ที่สอนกันเองอีกด้วย เช่น ใครเก่ง frontend อยากทำสอน เสนอมาเลย มีคนพร้อมจะช่วยทำ slide หรือแบบออกความคิดเห็นว่าอยากเรียนอะไรจากหัวข้อนั้นๆ ทำให้เราเก่งขึ้นทั้งด้าน hard skill และ soft skill นอกจากเรื่อง เทคโนโลยี แล้วยังมีเรื่องที่ตัวองสนใจและแชร์ให้กับคนอื่นๆด้วย ทำให้มีเวทีสำหรับฝึกพูด ฝึกนำเสนอ ไม่ใช่ว่าจะพัฒนาแต่ด้านเทคโนโลยี โดยไมไ่ด้ สนใจด้านอื่นๆเลย

8. ถ้าสนุก … เอาให้สุดเหวี่ยง

นอกจากเรื่องงานแล้วเรื่อง party ของที่นี่คือ สุดเหมือนกัน มี Dev trip ให้ไปเที่ยวที่ต่างๆ หรือจะไปกันเองก็ได้ มีกิจกรรมให้ทำและสามารถออกแบบกิจกรรมได้เองอีกด้วย ถ้าใครอยากจัดอะไร อยากนำเสนออะไร อยากเล่นเกมแบบไหน จัดได้หมด กินแอลกอฮอล์ก็มีหลายยี่ห้อ ชอบสายเมาแบบไหนมีคนพร้อมชน มีคนพร้อมเล่าเรื่อง มีคนพร้อมปรึกษา ตอนแรกคิดว่าเป็นแค่ทีม Dev ตอนปาตี้บริษัทบอกเลย ไม่ต่าง 5555 เละสุด ทุกคน

โดยปกติแล้ว ที่บริษัทเองก็มีเบียร์ให้กดแล้วก็มีเบียร์กระป๋องอีก คือ พร้อมให้ทุกคน enjoy เพราะฉะนั้นผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายๆคนที่ออกจาก wisesight ไปยังคงกลับมา enjoy ทุกคนที่มีงานเลี้ยงครับ

ที่ออฟฟิตเองก็มีกิจกรรมให้พร้อม ทั้งบอร์ดเกม โต๊กพูล ปิงปอง หรืออยากตี Rov ก็ชวนตี้ได้เลย มีคนเล่น เล่นเกมอะไรก็มีคีนเล่นเหมือนกัน Dota 2 หรือ RO มีหมด และเรื่องกีฬาก็มีให้เหมือนกันทั้งฟุตบอล ตีแบต โดยทุกกิจกรรมเราเล่นด้วยกัน cross team ไม่ได้เล่นกันใน Dev team อย่างเดียว

9. No blame, Just learn and go on

เรื่องนี้สำคัญมากๆ เกี่ยวกับ mindset ขององค์กรได้เลย เพราะหลายๆครั้งที่คนเราต้องมีผิดพลาด ทำพลาด ไม่ได้ตั้งใจ หลายๆเหตุการณ์ที่ผมอยู่ที่นี่มีแน่ๆอยู่แล้ว ไม่มีใครไม่เคยทำพลาด แต่หลายๆที่จะทำอะไรหลังจากที่เกิดความผิดพลาดขึ้น ที่ wisesight เราจะพยายามช่วยกันแก้ไข และหาสาเหตุให้เจอเพื่อให้ครั้งหน้าเราจะไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ และมีเอกสารหรือแนวทาง เพื่อป้องกันไม่ให้คนที่มาทำต่อมาทำผิดพลาดเรื่องเดิม

แน่นอนว่าวิธีไม่ได้ perfect แต่การที่เริ่มทำและมีแนวคิดในการให้โอกาสเมื่อทำให้ผิดพลาดได้ ทำให้คนทุกคนอยากคิดอยากสร้างสรรค์ อยากทำอะไรใหม่ๆเพราะไม่กลัวจะผิดจะพลาด และในทุกๆ step ก็จะมีคนมาช่วยประคองช่วยเช็คว่ามันเป็นไปได้ไหม อะไรจะล่มจะผิดพลาดหรือเปล่า ยิ่งทำให้คนอยากทำอะไรใหม่ๆออกมา

10. ความสำเร็จไม่ได้วัดแค่ ทำเงิน … ได้เท่าไร

หลายๆอย่างนั้นใน wisesight เราไม่ได้วัดความสำเร็จเป็นตัวเงินชัดเจนครับ เพราะเราเข้าใจว่า การสร้างอะไรบางอย่างที่ไปช่วยเหลือ Team ก็เป็นการลด cost หรือทำให้อีก Team ทำเงินได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะฉะนั้น เป้าหมายของแต่ละทีมนั้นไม่ได้ ต้องทำเงินได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็น value ของตัวงานของเรานั้นๆ

อย่างตัวผมเอง ก็ทำ https://trend.wisesight.com/trends/trend เราเป็น public product ถ้าเขาวัดด้วยเงิน แปลว่าทีมผมทำงานได้ไม่ดีเลยถูกต้องไหมครับ เพราะว่า Trend เองไม่ได้มี profit แต่เป็นการเอาเครื่องมือมาให้ user ทั่วไปใช้ฟรีๆเลย และเรายังคงพัฒนาให้ user สามารถใช้ฟรีได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆอีกด้วย แต่แกนในการวัดคือ user ใช้มากขึ้นไหม user ชอบมันไหม แล้วมันสามารถนำพาคนมาซื้อ Research เรามากขึ้นไหม เห็นไหมครับ ว่ามันไม่ได้วัดด้วยตัวเงินตรงๆ

และทุกๆเดือนก็มีการติดตามผลว่าเราทำเป้าหมายถึงไหนแล้ว และคอยผลักดันให้ทุกคนพัฒนาไม่ได้อยู่แค่ใครคนใดคนหนึ่งแต่ทุกคนจริงๆ ที่พร้อมจะช่วย

แถม

เรื่องเงินเดือนที่นี่ให้ไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางครับ มีการสำรวจเงินเดือนตลอดเวลาครับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าสมัครงานมาแล้ว เงินเดือนจะแปลกๆ หรือน้อยกว่า แต่ถ้าน้อยกว่ามีสิ่งแวดล้อมที่พร้อมสนับสนุนคุณก็ต้องคิดในใจว่าสิ่งนี้ราคามันคุ้มไหมอยู่ที่คุณแล้วครับ

ถ้าอ่านแล้วสนใจจะสมัครที่ไหนยังไง ?

หากคุณคิดว่าทุกสิ่งที่ผมอยู่มา 1 ปีแล้วคิดว่าคุณน่าจะเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ผมก็อยากให้คุณเข้ามาลองสมัครดูครับ เพราะตอนนี้ก็เปิดรับสมัครอยู่ ไม่ขออะไรมาก ขอแค่บอกตอนสมัครว่า อ่านมาจากบทความนี้ก็พอครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งเลย ตอนนี้เปิดรับ Software Engineer (Mid-Senior Level) แต่สำหรับตำแหน่งอื่นก็เป็นเหมือนกันครับ ถ้าคุณไม่ใช่ developer ก็สามารถสมัครกันได้เช่นกันครับ

https://career.wisesight.com/

Loading

เป็นโปรแกรมเมอร์ที่ตามหาคุณค่าของชีวิตและความฝันในวัยเด็ก ชอบเล่นเกม เรียนรู้ทุกอย่าง ชอบเจอคนใหม่ๆ งานสังคมทุกชนิด ออกกำลังกายในวันว่าง อ่านหนังสือ มีเว็บรีวิวหนังสือด้วย www.readraide.in.th